เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 5. ทันตภูมิสูตร

[217] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ กษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษก1แล้ว รับสั่งเรียกพรานผู้ชำนาญป่าที่ช้างอาศัยอยู่มาแล้วตรัสว่า ‘มา
เถิดพ่อพรานช้างเพื่อนยาก ท่านจงขี่ช้างหลวงเข้าไปยังดงช้าง เห็นช้างป่าแล้ว
จงคล้องมันผูกไว้ที่คอช้างหลวงเถิด’ พรานป่าผู้เป็นควาญช้าง รับพระราชโองการ
แล้ว จึงขี่ช้างหลวงเข้าไปยังดงช้าง เห็นช้างป่าแล้ว จึงคล้องมันผูกไว้ที่คอช้างหลวง
ช้างหลวงจึงนำช้างป่านั้นออกมาสู่ที่กลางแจ้งได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ช้างป่าจึงมา
อยู่กลางแจ้ง ความจริงช้างป่าทั้งหลายยังห่วงถิ่นคือดงช้างอยู่ พรานป่าผู้เป็น
ควาญช้างจึงกราบทูลเรื่องนี้แด่กษัตราธิราชว่า ‘ขอเดชะ ช้างป่าของพระองค์มาอยู่
ที่กลางแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า’
ลำดับนั้น กษัตราธิราชจึงรับสั่งเรียกควาญช้างมาตรัสว่า ‘มาเถิดพ่อ
ควาญช้าง ท่านจงฝึกช้างป่า จงไปเพื่อแก้ไขปกติของสัตว์ป่า แก้ไขความสับสน
ของสัตว์ป่า และแก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจ
ของสัตว์ป่า เพื่อให้ช้างป่านั้นยินดีในแดนบ้าน ให้เพลิดเพลินในปกติที่มนุษย์
ต้องการเถิด’
ควาญช้างรับพระราชโองการแล้ว จึงฝังเสาตะลุงใหญ่ลงในแผ่นดิน ล่ามคอ
ช้างป่าไว้อย่างมั่นคง เพื่อแก้ไขปกติของสัตว์ป่า แก้ไขความสับสนของสัตว์ป่า
และแก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจของสัตว์ป่า
เพื่อให้ช้างป่านั้นยินดีในแดนบ้าน ให้เพลิดเพลินในปกติที่มนุษย์ต้องการ ควาญช้าง
ร้องเรียกช้างป่านั้นด้วยคำไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นภาษาของชาวเมือง
คนส่วนมากรักใคร่พอใจ เพราะช้างป่าถูกควาญช้างร้องเรียกอยู่ด้วยคำไม่มีโทษ
ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นภาษาของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจเห็นปานนั้น
ช้างจึงตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะเรียนรู้ ควาญช้างจึงเพิ่มอาหาร คือหญ้าและน้ำให้
ช้างนั้นยิ่งขึ้น


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 5. ทันตภูมิสูตร

อัคคิเวสสนะ เพราะช้างป่ารับอาหาร คือหญ้าและน้ำของควาญช้าง ควาญ
ช้างจึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ช้างป่าจักดำรงชีพอยู่ได้ละ’ จึงให้ช้างป่านั้น
ฝึกยิ่งขึ้นด้วยสั่งว่า ‘รับไป พ่อ วางลง พ่อ’ เพราะช้างหลวงทำตามคำสั่ง
รับทำตามโอวาทของควาญช้างในการรับและการวาง ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึกยิ่ง
ขึ้นด้วยสั่งว่า ‘เดินไป พ่อ ถอยกลับ พ่อ’ เพราะช้างหลวงทำตามคำสั่ง รับทำ
ตามโอวาทของควาญช้างในการเดินไปและการถอยกลับ ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึก
ยิ่งขึ้นด้วยสั่งว่า ‘ยืนขึ้น พ่อ หมอบลง พ่อ’ เพราะช้างหลวงทำตามคำสั่ง รับ
ทำตามโอวาทของควาญช้างในการยืนและการหมอบ ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึกยิ่ง
ขึ้นจนถึงขั้นที่ชื่อว่าอาเนญชะ(ไม่หวั่นไหว)คือผูกโล่ใหญ่ไว้ที่งวงช้างนั้น จัดบุรุษถือหอกซัด
นั่งบนคอช้าง จัดบุรุษถือหอกซัดหลายคนยืนล้อมรอบ ส่วนควาญช้างถือของ้าวยาว
ยืนอยู่ข้างหน้า ช้างนั้นได้รับการฝึกถึงขั้นอาเนญชะอยู่ จึงไม่ขยับเท้าหน้า ไม่ขยับ
เท้าหลัง ไม่เขยื้อนกายไปข้างหน้า ไม่เขยื้อนกายไปข้างหลัง ไม่โคลงหัว ไม่กระดิกหู
ไม่เหวี่ยงงา ไม่แกว่งหาง ไม่ขยับงวง เป็นช้างหลวงผู้อดทนต่อการถูกหอกทิ่มแทง
ถูกดาบฟัน ถูกลูกศรเสียบแทง และถูกเครื่องประหารของศัตรูอื่น อดทนต่อเสียง
อึกกระทึกแห่งกลองศึก มโหระทึก สังข์ และกลองเล็ก กำจัดนิสัยดื้อรั้นทุกอย่าง
และหมดพยศ จึงนับว่า ‘เป็นช้างสมควรแก่พระราชา อันพระราชาควรใช้สอย
เป็นองค์สมบัติของพระราชา’ แม้ฉันใด
[218] อัคคิเวสสนะ ตถาคต1ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล อุบัติขึ้นมาในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ2 ไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค3 ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ด้วยตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มี
ความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด4 ประกาศพรหมจรรย์5 พร้อมทั้ง